จะแปลงเพาะกล้ามะพร้าว มะพร้าวปลูกใหม่สูงเพียงเอว หรือมะพร้าวสูงเท่าตึก 3 ชั้น !! ก็หนีไม่พ้นปัญหาทางใบมะพร้าวส่วนบนยอดคอมะพร้าวมีอาการใบไหม้ หากชาวสวนสังเกตแผลไหม้ในระยะแรกๆ จะพบว่า แรกเริ่มเป็นแผลทางยาวขนานไปกับใบ มีสีขาวหรือสีขาวอมเทา ต่อมาเมื่อแผลเริ่มแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลคล้ายอาการใบไหม้ ในมะพร้าวต้นสูงๆ หากมีความรุนแรง ใบไหม้ตลอดทั้งทางใบและทางใบแห้ง เมื่อมองจากระยะไกลจะเห็นส่วนยอดขาวโพลน จึงมักเรียกลักษณะดังกล่าวว่า “มะพร้าวหัวหงอก” 

ลักษณะใบไหม้ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ มีสาเหตุมากจาก “แมลงดำหนามมะพร้าว” (Coconut leaf beetle) ซึ่งจัดเป็นแมลงสกุลด้วงขนาดเล็ก ลำตัวยาว-แบน โดยมีความยาวเฉลี่ย 8-12 มิลลิเมตร กว้าง 2-2.5 มิลลิเมตร (ขึ้นอยู่กับชนิดของแมลงดำหนาม) ส่วนหัวและอกมีสีเหลืองเข้มอมส้ม ส่วนปีกมีสีดำ  

แมลงดำหนามมะพร้าวตลอดวงจรชีวิต มี 4 ระยะ คือ ตัวเต็มวัย ไข่ ตัวอ่อน (หนอน) และดักแด้ โดยตัวเต็มวัยและตัวอ่อน จะอาศัยหลบอยู่ในยอดใบอ่อนมะพร้าวที่ยังไม่คลี่กางและแทะกินผิวใบอ่อน ทำให้เกิดแผลดังที่กล่าว ปกติแล้วแมลงดำหนามมักจะผสมพันธุ์และวางไข่ในช่วงหน้าแล้งหรือฤดูร้อน 

การป้องกันกำจัดแมลงดำหนามมะพร้าว สามารถทำได้โดยใช้ แพ็คมิดา70 (อิมิดาโคลพริด 70% WG) หรือ ไทอะมีทอกแซม (ไทอะมีทอกแซม 25% WG) อัตรา 4, 10 กรัม (ตามลำดับ) ต่อน้ำ 1 ลิตร ราดบริเวณยอดและรอบคอมะพร้าว 

สำหรับต้นมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร ใช้สว่านเจาะรูทำมุมเอียงราว 45 องศา ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร จำนวน 2 รู (รูควรอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน) ฉีด แพ็คกิ้ง-อี หรือ แพ็คติน (อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC) ลงไปในรูที่เจาะ อ้ตรา 30 มิลลิลิตร ต่อต้น แล้วอุดรูด้วยดินน้ำมัน ซึ่งวิธีนี้ช่วยป้องกันกำจัดหนอนหัวดำได้ด้วย 

เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันมะพร้าวจากแมลงดำหนามได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอขอบคุณข้อมูลการป้องกันกำจัดจาก เอกสารวิชาการ “การจัดการศัตรูพืชมะพร้าว” (หน้า 5, 8) สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร 

และหากท่านใดสนใจวิธีการป้องกันกำจัดด้วยวิธีเขตกรรม วิธีกล หรือชีววิธี สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  

 

เรียบเรียง: Thirasak Chuchoet 


จำนวนผู้เข้าชม : 802071 ครั้ง

แผนผังเว็บไซต์